การถมดิน ว่าจ้างผู้รับเหมาถมที่ดิน เพื่อสร้างบ้านอย่างคุ้มค่า
ผู้เขียน : หมอกแก้ว
การสร้างบ้านหลังใหม่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากสิ่งหนึ่งคือการถมดิน เราต้องถมดินหรือไม่ ถมอย่างไร ถมสูงแค่ไหนนั้น ยิ่งถมดินสูงยิ่งดี แต่ค่าถมดิน ค่ากำแพงกันดิน ค่ารั้ว จะสูงขึ้นตามระดับความสูงของดินเช่นกัน ดังนั้นก่อนที่ตัดสินใจถมดินท่านต้องพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
พิจารณาว่าบริเวณนั้นมีปัญหาน้ำท่วมหรือไม่
ระดับที่ดินของบ้านใกล้เคียงอยู่ในระดับใด และมีโครงการที่จะก่อสร้างถนนหรือไม่ ซึ่งที่ดินพร้อมปลูกสร้างควรจะมีระดับไม่ต่ำกว่าถนนหน้าที่ดิน และถ้ามีโครงการจะก่อสร้างถนนเราควรถมดินเผื่อความสูงของระดับถนนในอนาคตด้วย เพื่อให้น้ำที่ระบายจากตัวบ้านไหลออกสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้ดี สำหรับระดับดินบ้านข้างเคียงจะพิจารณาในแง่ของความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัว และการก่อสร้างรั้ว
พิจารณาว่าบริเวณนั้นมีปัญหาน้ำท่วมหรือไม่ ถ้ามีน้ำท่วมระดับน้ำท่วมสูงขนาดไหน อาจจะสอบถามจากเพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียง ซึ่งที่ดินพร้อมปลูกบ้านควรจะมีระดับสูงกว่าระดับน้ำท่วมพอสมควร
พิจารณาว่าท่อระบายน้ำสาธารณะอยู่สูงระดับไหน และถ้าเราก่อสร้างบ้านแล้ว ท่อระบายน้ำของเราจะอยู่สูงกว่าท่อระบายน้ำสาธารณะหรือไม่ ถ้าสูงกว่า สูงกว่ามากขนาดไหน เพราะยิ่งที่ดินเราสูง แล้วท่อระบายน้ำเราสูงย่อมระบายน้ำลงสู่ท่อสาธารณะได้ดีกว่าแน่นอน
กรณีที่ดินจัดสรร โครงการจะถมดินว่าระดับหนึ่งแล้ว พร้อมทำท่อระบายน้ำไว้เรียบร้อย ถ้าเพิ่งถมดินใหม่ๆ ดินจะทรุดตัวอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องพิจารณาต่อว่าควรจะถมดินหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระดับดินที่โครงการถมไว้และการทรุดตัวของดินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย แต่ถ้าโครงการมีระดับดินสูงกว่าถนนในโครงการตั้งแต่ 0.50 ม. ขึ้นไป โดยมากมักจะไม่นิยมถมดิน เพราะระดับดินอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
กรณีที่ดินลักษณะลาดชัน เชิงเขา ต้องการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ จำเป็นต้องศึกษาถึงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบหลังการถมดิน รวมถึงภูมิทัศน์เมื่อก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จด้วย พร้อมทั้งศึกษาการไหลของดิน ยิ่งถมดินมากยิ่งมีโอกาสดินไหลลงสู่ที่ต่ำมาก และต้องศึกษาถึงการจัดทำกำแพงกันดินไหล และปัญหาอื่นๆที่จะตามมาซึ่งขอไม่นำมาชี้แจงในบทความนี้ ไว้ชี้แจงอย่างละเอียดในบทความการออกแบบและก่อสร้างบ้านพักตากอากาศต่อไป
ประเภทของดินที่ถม
ดินลูกรัง โดยคุณสมบัติหลังการบดอัดดินจะแน่น เหมาะสำหรับทำถนน ไม่เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้ ถ้ามีที่ดินมาก อาจจะแบ่งตามประโยชน์ใช้สอยของดิน คือบริเวณที่ทำถนน ลานจอดรถ ใช้ดินลูกรัง บริเวณที่ต้องการจะปลูกต้นไม้ควรใช้หน้าดินมาถมเป็นต้น
หน้าดิน คือดินที่อยู่บริเวณด้านบนของผิวดิน ระดับ 0.00-0.50 เมตร หรืออาจจลึกลงไปมากกว่า 0.50 เมตรเล็กน้อย ดินมีสีดำ เหมาะสำหรับถมเพื่อปลูกต้นไม้ แต่มีราคาสูงกว่าดินประเภทอื่น นิยมนำมาถมบริเวณบ้านที่มีที่ดินไม่มากนัก
ดินเหนียว นิยมนำมาถมดินในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพราะหาได้ง่าย ราคาเหมาะสม สามารถใช้ปลูกต้นไม้ได้ดีในระดับหนึ่ง
ดินทราย เมื่อนำมาถมแล้วจะมีปัญหาการไหลของดิน ดังนั้นจำเป็นต้องบดอัดดินทรายอย่างดีเพื่อไม่ให้ดินทรุดตัวและไหลไปบริวณข้างเคียง ดินทรายมีราคาถูก เหมาะสำหรับถมดินในโครงการจัดสรรมากกว่า
ดินผสมอิฐหักหรือผสมเศษขยะ มีราคาถูกเหมาะสำหรับนำมาถมพื้นที่ที่ไม่ต้องการปลูกต้นไม้ พื้นที่ทำถนนภายในบ้าน ดินประเภทนี้มักจะมีปัญหาเมื่อถมดินก่อนก่อสร้าง อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการตอกเสาเข็มเพราะมีเศษอิฐขนาดใหญ่อยู่ในดินได้
ถมดินก่อนหรือหลังสร้างบ้านดี
การถมดินก่อนสร้างบ้าน จะง่ายต่อการทำงาน ง่ายต่อผู้ถมดิน ง่ายต่อผู้รับเหมาสร้างบ้าน โดยระหว่างการก่อสร้างบ้านดินจะทรุดตัวระดับหนึ่ง ท่านสามารถปรับระดับดินอีกครั้ง หลังบ้านก่อสร้างเสร็จ ซึ่งจะง่ายต่อการทำถนน ทำรั้วและจัดสวน
การถมดินหลังการสร้างบ้าน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดค่าถมดินใต้บ้าน กล่าวคือให้ผู้รับเหมาก่อสร้างยกพื้นบ้านให้สูงลอยจากระดับดินเดิมพอสมควร แล้วเมื่อบ้านสร้างเสร็จ จึงถมดินเฉพาะบริเวณรอบบ้าน ไม่ต้องถมดินใต้บ้าน จะประหยัดค่าถมดินได้ส่วนหนึ่ง แต่พึงระวังว่าการถมดินหลังก่อสร้างบ้านเสร็จ ถ้าการขนย้ายดินไม่สะดวกอาจจะเสียค่าขนย้ายดินมากกว่าเดิมก็ได้ และค่าก่อสร้างยกพื้นสูงจะมีต้นทุนเพิ่ม ดังนั้นแล้วท่านต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยมากเหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นชั้น 1 ขนาดใหญ่ มีที่ดินรอบบ้านกว้างขวาง จึงจะคุ้มค่าและประหยัดกว่า
กรณีบ้านที่ใช้เสาเข็มเจาะ จะมีดินจากการเจาะเสาเข็ม ปกติแล้วผู้รับเหมาจะขนย้ายออก ท่านสามารถนำดินนี้มาถมบริเวณใต้บ้านได้ แต่ไม่เหมาะที่นำดินนี้ไปถมดินเพื่อปลูกต้นไม้ เพราะดินจากการเจาะเสาเข็มจะมีแร่ธาตุน้อยไม่เหมาะสำหรับปลูกต้นไม้
วิธีการถมดิน แล้วดินทรุดตัวน้อยที่สุด
พิจารณาที่ดินเดิมว่าเป็นอย่างไร บริเวณที่น้ำขัง บ่อน้ำ ย่อมมีดินเลน มีอินทรีย์วัตถุที่ทับถมอยู่ที่ผิวดิน ถ้าเราถมดินทับลงไปอินทรีย์วัตถุเหล่านี้จะค่อยๆย่อยสลายตามธรรมชาติ ทำให้ดินที่ถมใหม่ค่อยๆทรุดตัวลง ดังนั้นควรลอกดินเลน วัชพืช พืชน้ำต่างๆออกเสียก่อน ปล่อยไว้ให้แห้งแล้วจึงถมดินจะดีกว่า
กรณีเป็นพื้นที่แห้งมีพืชต่างๆปกคลุม ให้ถางหญ้าออกก่อน ต้นไม้ที่ไม่ต้องการให้ถอนตอไม้ออกด้วย แล้วค่อยถมดิน เพราะถ้าถมดินทับลงไป วัชพืชต่างๆเมื่อสลายตามธรรมชาติแล้ว ย่อมทำให้ดินที่ถมใหม่ค่อยๆทรุดตัวได้เช่นกัน
ในระหว่างการถมดิน จำเป็นต้องบดอัดดินโดยใช้รถแบคโฮ รถแทรกเตอร์หรือรถบรรทุก โดยบดอับดินทุกรอบระดับความสูงประมาณ 20-40 เซนติเมตร เช่นเมื่อถมดินได้สูง 30 เซนติเมตร ให้บดอัดไปมารอบหนึ่ง และเมื่อถมดินได้สูง 60 เซนติเมตร ให้บดอัดไปมาอีกรอบหนึ่ง วิธีนี้จะแก้ไขปัญหาโพรงอากาศที่แทรกตัวอยู่ในดินระหว่างการขนย้าย ระหว่างการถมดิน เมื่อบดอัดแล้วโพรงอากาศจะหดตัว ป้องกันการทรุดของดินในอนาคตได้ดีพอสมควร
กรณีที่ดินมีบริเวณกว้างมาก ต้องการถมดินสูงๆ ไม่มีกำแพงกันดิน ควรถมดินในลักษณะเป็นขั้นบันได (คล้ายทำนาขั้นบันได) เพื่อป้องกันดินไหลออกด้านข้างของบริเวณที่ถมดิน เช่น ดินชั้นแรกถมสูงตั้งแต่ 0.01-1.00 เมตรจะถมดินกว้างและยาว 100 เมตร ดินชั้นที่สองถมสูงตั้งแต่ 1.01-2.00 เมตร จะถมดินกว้างและยาวเพียง 98 เมตร จึงมีลักษณะคล้ายขั้นบันไดระหว่างแต่ละชั้นอยู่ 2 เมตร เพื่อป้องกันการไหลของดินระดับหนึ่ง
ขั้นตอนการถมดิน
ในทางปฏิบัติเราอาจจะให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง สถาปนิกหรือวิศวกร ช่วยคำนวณปริมาณดินที่ต้องการถม ต่อรองราคาและควบคุมการถมดินได้ เพราะเราไม่มีความรู้ ประสบการณ์ อาจจะตัดสินใจผิดพลาดและมีค่าใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น อย่างไรก็ตามเราจำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการถมดินระดับหนึ่งก่อนจะดีกว่าไม่มีความรู้เสียเลย
ขั้นที่ 1 คำนวณปริมาณดินที่ต้องการถม ในปัจจุบันมักจะคำนวณปริมาณดินเป็นลูกบาศก์เมตรหรือเรียกง่ายๆว่า “คิว” 1 ลูกบาศก์เมตรก็คือ 1 คิวนั้นเอง 1 คิว คือปริมาณดินกว้าง 1 เมตร สูง 1 เมตร ลึก 1 เมตร (กว้าง x ยาว x สูง) ดังนั้นเราต้องการถมดินกี่คิวก็ให้คำนวณออกมาเป็นปริมาณที่ต้องการจะถม พึงระวังไว้ว่า 1 ตารางวา เท่ากับ 4 ตารางเมตร ที่ดิน 1 ตารางวาต้องการถมสูง 1 เมตร ต้องใช้ดิน 4 คิว เป็นต้น
กรณีที่ดินที่มีความลาดชัน เชิงเขา ไม่เรียบ จะคำนวณปริมาณดินยากกว่า อาจจะต้องแบ่งที่ดินเป็นโซน แล้วหาค่าเฉลี่ยความสูงที่ต้องการถมดินในแต่ละโซนก็ได้
ขั้นที่ 2 หาผู้รับเหมาถมดิน ต่อรองราคา ซึ่งราคาถมดินนอกจากขึ้นอยู่กับปริมาณที่ใช้แล้ว ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้
- ประเภทดินที่ต้องการจะถม ถ้าเป็นหน้าดินย่อมมีราคาสูงที่สุด
- ระยะทางจากบ่อดินถึงสถานที่ก่อสร้าง ถ้าระยะทางใกล้ยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้
- ความยากง่ายของการขนส่ง สถานที่ก่อสร้างต้องเข้าซอนแคบๆหรือไม่ รถสิบล้อเข้าได้หรือไม่ ถ้าใช้รถบรรทุกหกสิบย่อมมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคิว สูงกว่ารถบรรทุกสิบล้อแน่นอน
- การบดอัดของดิน ต้องมีหรือไม่ ถ้ามีต้องชำระค่าเช่ารถแบคโฮหรือรถแทรกเตอร์เท่าไร
ขั้นที่ 3 การตกลงว่าจ้าง ควรตกลงว่ากันเป็นปริมาณลูกบาศก์เมตร เพราะท่านจะได้ปริมาณดินถมตามความต้องการ ส่วนจะพร้อมค่าบดอัดดินหรือไม่แล้วแต่ตกลงกัน บางครั้งผู้รับเหมาถมดินจะคิดว่าถมดินเป็นจำนวนคันรถ ซึ่งถ้าไม่จำเป็นไม่ควรว่าจ้างถมดินเป็นจำนวนคันรถเพราะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจำนวนคันรถที่ผู้รับเหมาถมดินแจ้ง เมื่อถมพร้อมบดอัดแล้วจะได้ความสูงของดินตามที่ท่านต้องการหรือไม่
ก่อนถมดิน ควรทำระดับความสูงของดินที่ท่านต้องการไว้หน้าที่ดินเช่น พ่นสีระดับดินที่ต้องการไว้บนกำแพง หรือทำไม้วัดระดับความสูงไว้ เพื่อตรวจสอบความได้ความสูงตามที่ตกลงกัน
ขั้นที่ 4 ระหว่างการถมดิน ท่านควรจะเอาสังเกตุการถมดินเป็นระยะๆ ตรวจสอบประเภทของดินได้ดินตามที่ตกลงกันหรือไม่ บดอัดดินหรือไม่ ถมดินได้ความสูงตามที่ต้องการหรือไม่ เป็นต้น
บทความนี้หวังว่าท่านจะได้รับประโยชน์ไม่มากก็น้อยพอสมควร เพื่อให้ท่านได้วางแผน วิเคราะห์ ตัดสินใจเกี่ยวกับการถมดินได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ "อุ่นใจ รับสร้างบ้าน"
โทร. 02-5149001-4 : www.aoonjai.com
เรื่องอื่น ที่น่าสนใจ (คลิ๊กอ่านที่ภาพ)